หลายคนอาจไม่ได้สังเกตว่ามหาวิทยาลัยจะมีชื่อเรียกผู้เรียนที่แตกต่ากัน นั่นก็คือ “นิสิต” กับ “นักศึกษา” ชื่อเรียกทั้งสองแบบนี้ไม่ได้มีอะไรแตกต่างกันมากเพราะว่าเป็น “ผู้เรียน” เหมือนกัน  แต่ที่ชื่อทั้งสองใช้แตกต่างกันสรุปได้ดังนี้ว่า

นิสิต >> ใช้กับมหาวิทยาลัยที่มีหอพัก

นักศึกษา >> มหาวิทยาลัยที่ไม่มีหอพัก

ความหมายของ “นิสิต”

คำว่า “นิสิต” นั้นเป็นภาษาบาลี แปลว่า “ผู้อาศัยกับอุปัชฌาย์” เนื่องจากแต่เดิมสถาบันการศึกษาระดับสูงมักมีหอพักให้ผู้เรียนได้พักอาศัย ภายในสถาบัน ประกอบกับความนิยมภาษาบาลีด้วยจึงได้ใช้คำนี้โดยทั่วไป

ที่มา¹

นิสิต จะหมายถึง นิสิตชาย และ นิสิตตา จะหมายถึง นิสิตหญิง (มีหลักฐานการเรียกนิสิตตาสำหรับ นิสิตหญิงที่เรียนจุฬาฯในสมัยก่อน)

เมื่อ 70 ปีกว่ามาแล้ว ส่วนบริเวณที่เป็นเมืองจะอยู่ในกรุงเทพชั้นใน (นับจากคลองผดุงกรุงเกษม หรือ หัวลำโพงเข้าไปจนถึงเกาะรัตนโกสินทร์) ส่วนที่อยู่ถัดจากหัวลำโพงออกมาจะเป็นพระนคร(ชื่อเรียกกรุงเทพมหานครในสมัย นั้น)ชานเมือง

มหาวิทยาลัยที่อยู่นอกเมือง ผู้เรียนมีความจำเป็นต้องอยู่หอ จึงเรียกผู้ที่เรียนมหาวิทยาลัยนอกเมืองนี้ว่า นิสิต เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย(สมัยนั้นถือว่าอยู่นอกเมืองครับ แตกต่างจากสมัยนี้กลายเป็นใจกลางเมืองไป เมื่อเมืองหลวงขยายตัวมากขึ้น) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ(ซึ่ง ในขณะนั้นมีวิทยาเขตในกรุงเทพและต่างจังหวัดหลายแห่งด้วยกัน เช่น ประสานมิตร ปทุมวัน พลศึกษา-บริเวณสนามกีฬาแห่งชาติ บางแสน เป็นต้น)

ส่วนมหาวิทยาลัยที่อยู่ในเมือง ผู้เรียนไม่มีความจำเป็นต้องอยู่หอใด ๆ ทั้งสิ้น จึงเรียกผู้ที่เล่าเรียนว่า นักศึกษา โดยมีมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง(ขณะนั้นมีที่ตั้งอยู่ที่ท่าพระ จันทร์เพียงแห่งเดียว)ริเริ่มใช้คำนี้ขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยแรก มหาวิทยาลัยที่ใช้คำว่า “นักศึกษา” ในสมัยนั้น จึงได้แก่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(ชื่อในปัจจุบัน) มหาวิทยาลัยศิลปากร(ขณะนั้นมีที่ตั้งมหาวิทยาลัยอยู่ที่วังท่าพระเพียงแห่งเดียว) และ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์(มหาวิทยาลัยมหิดลในปัจจุบัน ขณะนั้นมีที่ตั้งมหาวิทยาลัยอยู่ที่ศิริราช)

หลังจากนั้น วิทยาเขตอื่น ๆ ของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ได้รับการสถาปนาเป็นมหาวิทยาลัยประจำภูมิภาค เช่น มหาวิทยาลัยบูรพา(เดิมเป็นวิทยาเขตบางแสน) มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (ส่วนวิทยาเขตปทุมวันและพลศึกษาปัจจุบันได้ยุบวิทยาเขตไป และเวนคืนที่ดินกลับสู่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเพื่อใช้ในการเรียนการสอนอย่าง ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน)

ทั้งหมดนี้ คือ ความแตกต่างของคำว่า “นิสิต” และ “นักศึกษา” นั้นเองครับ ปัจจุบันนิยมเรียกผู้ที่เรียนในมหาวิทยาลัยว่า นิสิตนักศึกษา ในความหมายรวมควบคู่กันไปเลย

ถึง แม้ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยต่าง ๆ จะเริ่มมีหอพักเป็นของตัวเองหรือไม่ก็ตาม แต่ก็นิยมใช้คำเรียก นิสิต นักศึกษา ตามแบบฉบับดั้งเดิมของแต่ละสถาบันอย่างที่เห็นกันในปัจจุบัน

ส่วน ความเข้าใจเรื่องผู้ก่อตั้ง เรื่องการมีพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูงเล่าเรียนอยู่ หรือความเข้าใจอื่น ๆ เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงทั้งสิ้น

ปัจจุบันมีมหาวิทยาลัยที่เรียกผู้เล่าเรียนว่า “นิสิต” ดังนี้
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
มหาวิทยาลัยบูรพา
มหาวิทยาลัยนเรศวร
มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
มหาวิทยาลัยทักษิณ
มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

ส่วนมหาวิทยาลัยอื่นนอกจากนี้ จะเรียกผู้เรียนว่า “นักศึกษา” ได้แก่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยรัฐอื่น ๆ และมหาวิทยาลัยเปิดทุกแห่ง

คำว่า นิสิต จึงไม่ได้มีความหมาย หรือความพิเศษอันใดต่างจากคำว่า นักศึกษา เลย มีเพียงที่มาเท่านั้นที่แตกต่างกัน

1. อ้างอิง www.vcharkarn.com

บทความก่อนหน้านี้เทคนิคการตั้งรหัสผ่านที่จำง่าย แต่เดายาก
บทความถัดไปวิธีส่งงานด้วยอีเมล์ (Hotmail)
เป้าหมายการทำเว็บของผมคือ คนไทยต้องเข้าถึงข้อมูลได้ง่าย จะแก้ปัญหาไอทีต้องมีทางออก เว็บมหาลัยฯจึงก่อกำเนิดขึ้น